กระบวนการผลิตผ้าไทย Thai Textile ตั้งแต่การปั่นด้ายจนถึงการทอผ้า

9 May 2023
DOBBYTEX ADMIN

Thai Textile เสน่ห์และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

วิถีดั้งเดิมของชาวไทยหลายชนบท มักจะนิยมทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสำหรับนุ่งห่ม หรือใช้สำหรับเป็นผ้าห่มผ้าม่านไว้ใช้ รวมถึงการทอผ้าสำหรับพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ก็ต้องใช้ผ้าที่ทอมือกันในแต่ละชุมชน จนทำให้เกิดลวดลายที่สะท้อนศิลปะ ความเชื่อและวิถีชีวิต รวมถึงเทคนิคการทอลายผ้าเฉพาะภูมิภาคหรือท้องถิ่นนั้นๆ จึงทำให้ผ้าไทย หรือ Thai Textile นั้นมีเสน่ห์และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

ในอดีตมนุษย์รู้จักการนำเส้นใยของพืชหลายชนิดมาทอเป็นผ้าได้ เช่น กล้วย สับปะรด ป่าน ปอ ฝ้าย ฯลฯ หรือในประเทศที่มีอากาศหนาวก็จะนำขนของสัตว์อย่าง แกะหรือสุนัขจิ้งจอก มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อคลายหนาว แต่สำหรับประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนนั้น เรานิยมใช้ปุยฝ้ายและนำใยจากตัวไหมมาทอเป็นผืนผ้า เนื่องจากมีคุณสมบัติเบาบางและเย็นสบายเพราะระบายอากาศได้ดี ผ้าฝ้ายและผ้าไหมจึงเป็นที่นิยมของคนไทยมากกว่าผ้าชนิดอื่น

จุดเริ่มต้นของ Thai Textile

การทอผ้าฝ้ายชาวบ้านในชนบทของไทย มักจะเริ่มปลูกฝ้ายในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนกว่าฝ้ายที่ปลูกจะแก่จนสามารถเก็บเมล็ดฝ้ายที่มีปุยขาวๆ มาตากแดดไว้แล้วนำไปหั่น ปั่นและย้อม ก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้าไว้ใช้งานต่างๆ ส่วนการทอผ้าไหมนั้น ชาวบ้านจะต้องเริ่มจากการปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงตัวไหม ที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายกับหนอน โดยชาวบ้านจะเลี้ยงตัวไหมใส่กระด้งไว้วางตามระเบียงบ้าน แล้วใช้ใบหม่อนหั่นเป็นฝอยให้ตัวไหมกิน เมื่อตัวไหมโตเต็มที่จะชักใยเป็นรังหุ้มตัวมันเอง และชาวบ้านจะนำรังไหมไปต้มและสาวเอาเส้นไหมให้ยาวต่อกันเป็นเส้นเดียว แล้วจึงนำไปฟอกหรือย้อมสีต่างๆ ตามที่ต้องการ

ซึ่งคนโบราณรู้จักนำส่วนต่างๆ ของพืชหลายชนิด เช่น เปลือกไม้ แก่น ดอก ผล ใบ รากและเมล็ด มาต้มเคี่ยวเป็นสีต่างๆ เช่น สีเหลืองได้มาจากขมิ้นชัน สีส้มปนแดงจากดอกกรรณิการ์ หรือสีม่วงจากลูกหว้า เป็นต้น เมื่อได้สีที่ต้องการแล้วจึงนำสีนั้นๆ มาย้อมเส้นด้ายที่ได้จากไหมก็ดีหรือฝ้ายก็ดี เพื่อเข้าสู่กระบวนการการปั่นด้ายและการทอต่อไป

กระบวนการผลิตผ้าไทย Thai Textile

  1. การปั่นด้าย : อุปกรณ์สำคัญในการปั่นด้ายมีด้วยกัน 2 ชิ้น ก็คือ เครื่องปั่นด้าย โดยท้องถิ่นอีสานจะเรียกว่า “ใน” หรือท้องถิ่นอื่นเรียกว่า หลา, กงปั่นด้ายและหลาปั่นด้าย ส่วนอุปกรณ์อีกชิ้นก็คือ เครื่องกรอไหม ชาวบ้านภาคเหนือเรียกว่า “กวง,เผื่อนหรือเพียน” ซึ่งเครื่องปั่นด้ายจะใช้สำหรับปั่นฝ้ายให้เป็นเกลียวแน่นจนเป็นเส้นด้าย หรือใช้กรอเส้นด้ายเข้าใส้หลอดสำหรับเป็นเส้นพุ่ง โดยใช้คู่กับกง ซึ่งการทอผ้าจะต้องมีขั้นตอนการเตรียมด้าย ดังนี้

    • นำด้ายมาคัดใส่กระบอกอักปั่นฝ้าย
    • นำด้ายขึ้นหลักเผีย (โครงไม้สำหรับเตรียมด้ายยืน)
    • นำด้ายมาต่อใส่ฟืม
    • นำด้ายมากางใส่กี่
    • ปั่นหลอด แล้วนำไปสู่กระบวนการทอตามลวดลายที่เราต้องการ

     

  2. กระบวนการทอผ้า Thai Textile : หลักการในการทอผ้าก็คือการนำเส้นฝ้ายหรือไหมมาขัดกันให้เป็นลาย โดยขึงเส้นกลุ่มหนึ่งเป็นหลักเรียกว่า “เส้นยืน” แล้วใช้อีกเส้นหนึ่งเรียกว่า “เส้นพุ่ง” สอดตามขวางของเส้นยืน เมื่อสานขัดกัน ก็จะเกิดลวดลายต่างๆ โดยแต่ละท้องถิ่นก็มักจะหาวิธีกการและเทคนิคการทอในแบบต่างๆ ของตนเอง บางครั้งก็ใช้เทคนิคการสอดด้ายและสอดสีสลับกัน บางวิธีก็จะจับผูกและมัดเน้นเป็นช่วงๆ หรืออาจจะยกด้ายที่ทอเป็นระยะๆ ทำให้เกิดลวดลายสวยงาม ซึ่งผู้ทอจะสามารถจดจำลวดลายที่ตนคิดประดิษฐ์และนำมาสอนลูกหลาน ให้สืบสานกันไปแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชน

    การทอผ้าแบบ Thai Textile มีหลายวิธี ทั้งการทอผ้าเนื้อเรียบธรรมดาไปจนกระทั่งการทอยกดอกหลายสี ซึ่งพื้นฐานของการทอมีเพียง 3 วิธีเบื้องต้น คือ การทอลายขัด, การทอลูกฟูก และการทอลายสาน นอกจากนั้นยังมีการนำไปปรับปรุง, ดัดแปลง หรือนำวิธีการทอทั้ง 3 วิธีมารวมกัน ตามแต่เทคนิคของแต่ละบุคคลหรือชุมชนนั้นๆ โดยวิธีการทอพื้นฐานมีรายละเอียดดังนี้

    • วิธีทอลายขัด ( Plain หรือ Tabby Weave) : เป็นวิธีการทอธรรมดาและง่ายที่สุด โดยการแบ่งด้ายยืนออกเป็น 2 หมู่ ใช้ตะกอ 2 อัน สืบเส้นด้าย สลับตะกอละเส้น เวลายกหรือสับตะกอด้ายยืนหมู่หนึ่งขึ้น อีกหมู่หนึ่งจะลง เปิดเป็นช่องให้ด้ายพุ่งสอดเข้าไปได้ เมื่อกระทบให้แน่นจะตัดกับด้ายยืนเป็นฉาก

      วิธีการทอลายขัดนี้อาจมีการดัดแปลงวิธีขัด เส้นด้ายให้แตกต่างออกไป ได้อีกหลายวิธีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทอเลย แต่ผ้าที่ผลิตออกมานั้นจะมีลักษณะหรือเนื้อสัมผัสไม่เหมือนผ้าทอธรรมดาอื่นๆ ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น

      • การใช้ด้ายต่างขนาด อาจจะทอตลอดผืนหรือสลับเป็นระยะ
      • สืบด้ายยืนใส่ฟันหวีให้ถี่ๆ ห่างๆ เปิดช่องว่างระหว่างเส้นด้ายเล็กบ้างใหญ่บ้าง เกิดเป็นเนื้อผ้าอีกแบบหนึ่ง
      • ใช้เส้นด้ายที่เข้าเกลียวไม่เหมือนกัน หรือจำนวนเกลียวไม่เท่ากัน เช่น แพรเลี่ยน ( flat crepe ) ผ้าป่าน
      • ให้เส้นใยไม่เหมือนกัน เช่น ใช้ด้ายยืนเป็นฝ้าย ด้ายพุ่งเป็นเรยอน หรือด้ายยืนเป็นไหม ด้ายพุ่งเป็นโลหะ ฯลฯ
      • ใช้ด้ายสีไม่เหมือนกัน
      • ใช้พิมพ์ดอกบนด้ายยืน แล้วใช้ด้ายพุ่งเป็นสีพื้น เมื่อทอเสร็จแล้ว ลวดลายจะจางลง มีสีเทาปนอยู่ด้วย
      • ใช้วิธีการตกแต่งที่ไม่เหมือนกัน

       

    • วิธีทอลูกฟูก( Rib Weave) : เป็นวิธีการทอให้มีแนวสันนูนขึ้นมาตลอดทั้งผืน ตามแนวด้ายพุ่งหรือด้ายยืนมีด้ายหมู่เดียวเรียงปิดแนวลูกฟูกแน่น ที่เกิดจากการใช้ด้ายขนาดต่างกัน ถ้าต้องการให้เป็นลูกฟูกทางไหน ก็จะใช้ด้ายตามแนวนั้นให้ใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง ด้านที่มีเส้นด้ายเล็กจะปิดเส้นด้ายใหญ่ จนทำให้เกิดเป็นแนวลูกฟูก

    • วิธีทอลายสาน( Basket Weave) : การเทคนิคการทอแบบรวมหมู่ด้ายพุ่งและด้ายยืนตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไปเช่นเดียวกับลายขัด หรืออาจจะรวมเพียงหมู่เดียว จะเป็นด้ายพุ่งหรือด้ายยืนก็ได้ แต่เมื่อทอออกมาแล้วจะเป็นตาสี่เหลี่ยมเท่ากันหรือไม่เท่ากันบ้าง คล้ายกับการสานตระกร้า

     

Thai Textile ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก

ในปัจจุบันเราเชื่อว่าเสน่ห์ของผ้าทอไทย ได้ถูกนำไปแสดงสู่สายตาของหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากดีไซเนอร์ไทยหลายแบรนด์ ทำผ้าไทยไปออกแบบอย่างอลังการและงดงาม ให้ทั้งวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ได้สวมใส่อย่างสวยงามและดูสมัยใหม่มากขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปะอย่างหนึ่งของไทย ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อและภูมิปัญญาของคนไทยผ่านผ้าไทย หรือ Thai Textile ที่นับเป็นสิ่งล้ำค่าที่ชาวบ้านภาคภูมิใจได้เป็นอย่างดี

หากคุณชื่นชอบผ้าทอไทย บริษัท ด๊อบบี้เท็กซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด เองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและนำเสนอผ้าไทยให้แก่ในและต่างประเทศ เราเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไทยและผ้าฝ้ายมามากกว่า 20 ปี ทั้ง ผ้าฝ้ายทอมือ, ผ้าฝ้าย 100, ผ้าฝ้ายพื้นเมือง, ผ้าชินมัย, ผ้าฝ้ายสาลู หรือผ้าฝ้ายกบ ใต้เเบรนด์ DOBBYTEX

order Thai Textile – ปรึกษาได้ที่ :
phone : 095-6098163, 065-0564299, 081-1714553
Line ID : @Dobbytexfabric
WhatsApp : (+66) 847269009
Email : Dobbytexfabric@gmail.com
Website : www.dobbytexfabric.com

Tag


Order cotton-consult at

More articles from us

All